วันที่ 16 สิงหาคม 2566 เวลา 10.00 น นายอดิเทพ กมลเวชช์ รักษาราชการแทน ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี เป็นประธานเปิดงาน Open House ผลสัมฤทธิ์โครงการ CNC Machine Retrofit ณ บริษัท ยูเนียน แอพพลาย จำกัด อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี จัดโดยสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี โดยมีคณะกรรมการสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี นำโดย นายสมควร จันทร์แดง ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี นายชวลิต ครองสิน ประธานกิตติมศักดิ์สภาอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี ให้การต้อนรับ
กิจกรรม Open House เริ่มต้นเมื่อเวลา 9.30 น. โดยการแนะนำตัวผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกท่าน ต่อมา นายสมควร จันทร์แดง ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี ได้เล่าถึงที่มาของโครงการนำร่อง CNC Retrofit และขอบคุณผู้ให้การสนับสนุนทุกฝ่าย และเวลา 10.00 น. ประธานได้เดินทางมาถึงสถานที่จัดงาน โดยมี ดร.วิทูร เจียมจิตต์ตรง ที่ปรึกษาสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี ได้กล่าวรายงานผลสัมฤทธิ์โครงการนำร่อง CNC Machine Retrofit และในเวลาต่อมา นายอดิเทพ กมลเวชช์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี รักษาราชการแทน ผวจ.ปทุมธานี ได้กล่าวเปิดกิจกรรม Open House หลังจากนั้น ดร.วารินทร์ ชลหาญ ที่ปรึกษาสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี ได้บรรยายสรุป ขั้นการทำ CNC Retrofit การคัดเลือกเครื่องจักร การจัดฝึกอบรมบุคลากร และการลงมือทำรีโทรฟิตเครื่องจักรจริง การจัดหาอุปกรณ์ และอุปสรรคที่พบ เวลา 11.00 น. ผู้เข้าร่วมงานได้เข้าเยี่ยมชม สาธิตการทำงานของเครื่องจักรซีเอ็นซีที่ได้จากการทำรีโทรฟิต เวลา 11.30 น. ดร.วิทูร เจียมจิตต์ตรง ได้เปิดประเด็นแลกเปลี่ยนกับผู้เข้าร่วมประชุมถึงแนวทางในการสร้าง Eco Engineering System เพื่อให้เกิดการส่งเสริมการทำ CNC Retrofit ขึ้นในพื้นที่จังหวัดปทุมธานีและกลุ่มจังหวัดภาคกลางปริมณฑล กิจกรรมสิ้นสุดลงเวลา 12.00 น.โดยการกล่าวขอบคุณผู้เข้าร่วมงานทุกท่านและกล่าวปิดกิจกรรมโดย ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี
โครงการ นำร่อง CNC Machine Retrofit ใช้เวลาในการดำเนินการทั้งการฝึกอบรมและการลงมือปฏิบัติการ ซ่อม สร้าง เครื่องจักรซีเอ็นซี เป็นเวลาทั้งสิ้น 2 เดือนครึ่ง เครื่องจักรซีเอ็นซีเดิมเป็นเครื่องจักรเก่าที่ระบบไฟฟ้าเสียหายมากเกินกว่าจะซ่อมบำรุง หรือมีราคาการซ่อมบำรุงที่สูงมาก แต่สภาพทางกลยังอยู่ในระดับที่สามารถปรับแก้ไขให้กลับมาใช้งานได้ หลังสิ้นสุดโครงการเครื่องจักรซีเอ็นซีที่เสียแล้วสามารถกลับมาทำงานได้เหมือนใหม่อีกครั้งหนึ่ง
คำกล่าวเปิดงาน ของผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี
ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี คณะกรรมการสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี ที่ปรึกษาสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี อุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี ผู้อำนวยการสำนักทะเบียนเครื่องจักรกลาง กรมโรงงานอุตสาหกรรม ท่านคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ท่านผู้จัดการธนาคารวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สาขาปทุมธานี และแขกผู้มีเกียรติทุกท่าน ผมรู้สึกยินและเป็นเกียรติเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาเป็นประธานในพิธีเปิดงาน Open House ผลสัมฤทธิ์โครงการนำร่อง CNC Machine Retrofit
ตลอด 50 ปีตั้งแต่ประเทศไทยพัฒนาประเทศเข้าสู่ความเป็นอุตสาหกรรม มีการนำเข้าเครื่องจักรกลเพื่อการผลิตมูลค่ามหาศาล และเครื่องจักรซีเอ็นซีเป็นเทคโนโลยีการผลิตต้นน้ำที่มีการนำเข้าสูงที่สุดในลำดับต้นๆ เครื่องจักรซีเอ็นซี เป็นเทคโนโลยีการผลิตที่มีราคาสูง สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มหาศาล มีอายุการใช้งาน 10 – 15 ปี แต่หลังจากนั้นผู้ใช้งานจะพบกับปัญหาการซ่อมบำรุง มีค่าใช้จ่ายสูง หรือไม่สามารถหาอะไหล่ทดแทนได้จนต้องขายทิ้งในราคามือสอง หรือชั่งกิโลขายเป็นเศษเหล็กในราคาถูก เมื่อพิจารณาความเสียหายของเครื่องจักรซีเอ็นซี พบว่าเครื่องจักรส่วนใหญ่มีความเสียหายทางระบบไฟฟ้าควบคุม แต่ระบบทางกลยังคงใช้งานได้ดี หรือสามารถปรับแก้ไขให้กลับมาใช้งานได้ดังเดิม และปัจจุบันการปรับปรุงระบบไฟฟ้าควบคุมใหม่ทำได้สะดวกกว่าในอดีต มีผู้ผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าควบคุมที่มีชื่อเสียงระดับโลก ผลิตออกมาจำหน่ายหลายราย แต่การนำอุปกรณ์เหล่านั้นมาติดตั้งเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความรู้ทางวิศวกรรมศาสตร์ ผสมผสานระหว่าง วิศวกรรมเครื่องกล และวิศวกรรมระบบอัตโนมัติ เมื่อต้องผสมผสานองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมหลายแขนงการถ่ายทอดเทคโนโลยีจึงจำเป็นที่จะต้องมีการจัดทำอย่างเป็นระบบ มีการส่งเสริมจากภาครัฐที่เหมาะสม เพราะการนำเครื่องจักรเก่า มาทำการซ่อม สร้าง ให้กลับมาใช้งานได้เหมือนใหม่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล ด้วยเงินลงทุนเพียง 20 – 30% ของราคาเครื่องใหม่ จะทำให้เราได้เครื่องจักรซีเอ็นซีเหมือนใหม่กลับมาใช้งานอีกครั้ง ลดการนำเข้ามหาศาล จัดเป็น BCG Economy ในกลุ่ม Circular Economy หมุนเวียนเทคโนโลยีกลับมาใช้งานใหม่ การซ่อม สร้าง เครื่องจักรซีเอ็นซี เป็นกิจกรรมทางธุรกิจที่สะอาด ไม่สร้างมลพิษ มลภาวะ ไม่มีกระบวนการผลิตแปรรูปที่จะสร้างของเสียใดๆ เปลี่ยนซากเครื่องจักรที่รอการชั่งกิโลขาย กลับมาเป็นเทคโนโลยีการผลิตราคาหลักล้าน
จากข้อมูลการนำเข้าเครื่องจักรซีเอ็นซี คาดว่าปัจจุบันมีเครื่องจักรซีเอ็นซีจอดตายอยู่ทั่วประเทศหลายแสนเครื่อง ซึ่งการสร้างผู้ประกอบการที่มีความสามารถในการทำ CNC Machine Retrofit จำนวนมากขึ้นในจังหวัดปทุมธานี สอดคล้องกับแผนพัฒนาจังหวัด ที่มุ่งเน้นการเป็นฐาน การผลิตสินค้า และบริการมูลค่าสูง เป็นเมือง อุตสาหกรรมสมัยใหม่บนฐานเทคโนโลยีและนวัตกรรม นำมาซึ่งการพัฒนาคุณภาพชีวิต บรรลุตามวิสัยทัศน์ จังหวัดปทุมธานี “เมืองน่าอยู่ คู่อุตสาหกรรม”
สภาอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี จึงได้ผลักดันโครงการ นำร่อง CNC Machine Retrofit เริ่มการฝึกอบรมตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม 2566 ณ สำนักงาน บริษัท ยูเนี่ยน แอพพลาย จำกัด โดยมีผู้เข้าอบรมทั้งสิ้นรวม 22 ราย จากผู้ประกอบการ 8 ราย มีการฝึก การซ่อม สร้าง เครื่องจักรซีเอ็นซี ขึ้นมาเพื่อประกอบการเรียนรู้จริงจำนวน 1 เครื่อง และเครื่องจักรดังกล่าวจะถูกส่งกลับเข้าไลน์การผลิตเพื่อใช้งานจริงเมื่อเสร็จสิ้นโครงการ
เป้าหมายในระยะ 2 – 3 ปี ข้างหน้า สภาอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานีต้องการให้จังหวัดปทุมธานี เป็นศูนย์กลางในการซ่อม สร้าง เครื่องจักรการผลิตอัตโนมัติ ของประเทศ ตามแนวเศรษฐกิจ BCG โดยบูรณาการคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี หน่วยราชการเกี่ยวข้องกับการพัฒนาบุคลากรด้านอุตสาหกรรม หน่วยราชการสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย เพื่อจัดตั้งขึ้นเป็นศูนย์ ถ่ายทอดเทคโนโลยี ซ่อม สร้างเครื่องจักรซีเอ็นซี เพื่อสร้างผู้ประกอบการจำนวนมากที่มีความสามารถด้านการออกแบบ สร้างเครื่องจักร ร่วมถึงสร้าง Eco-Engineering System ที่ส่งเสริมให้มีผู้ประกอบการสร้างเครื่องจักรเกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี เป็นพื้นที่เศรษฐกิจมูลค่าสูง ผลักดันให้เกิดการส่งเสริมการลงทุน นำรายจ่ายที่เกิดจากการทำ CNC Machine Retrofit มาหักภาษีได้ตามแนวทางคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้เกิด Circular Economy ขึ้นทั่วทั้งประเทศ โดยมีปทุมธานีเป็นศูนย์กลาง
บัดนี้ได้เวลาอันสมควร ผมขอเปิดกิจกรรม Open House ผลสัมฤทธิ์โครงการนำร่อง CNC Machine Retrofit ณ บัดนีี้