วันที่ 29 กันยายน 2566 เวลา 10.00 น ณ ห้องประชุมบัวหลวง ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดปทุมธานี สภาอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจจังหวัดปทุมธานี ครั้งที่ 5/2566 นำโดย นายสมควร จันทร์แดง ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี นายอรรถพล อรุโณรส รองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี นางสาวสุจินต์ ธำรงเทพพิทักษ์ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี ดร.วิทูร เจียมจิตต์ตรง และ ดร.วารินทร์ ชลหาญ ที่ปรึกษาสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี สายงานนวัตกรรมและการจัดการ
นายอดิเทพ กมลเวชช์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด รักษาราชการแทน ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ประธานในที่ประชุมได้เปิดประชุมในเวลา 10.00 น. โดยมี นายสิทธิชัย สวัสดิ์แสน และนายพงศธร กาญจนะจิตรา รองผู้ว่าราชการจังหวัด ร่วมประชุม ต่อมานายสมควร จันทร์แดง ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่าจังหวัดปทุมธานีและพื้นที่ใกล้เคียงเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก นอกจากสินค้าและบริการที่จะต้องเป็นนวัตกรรมแล้ว กระบวนการผลิตก็มีความจำเป็นต้องนำเทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่ ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ เข้ามาใช้งานเพื่อยกระดับการผลิตไปสู่การเป็นระบบอัตโนมัติทั่วทั้งจังหวัด จึงเสนอต่อประธานในที่ประชุมให้จัดตั้ง สถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ปทุมธานี
ดร.วารินทร์ ชลหาญ ที่ปรึกษาสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี ในฐานะผู้ได้รับมอบหมายให้นำเสนอโครงการต่อที่ประชุม การผลักดัน New S Curves ให้กับจังหวัดปทุมธานี เพื่อความเป็น Smart City และ เมืองน่าอยู่คู่อุตสาหกรรม จะต้องอาศัยจุดแข็งของจังหวัดมากำหนดเป็นแนวทางการพัฒนา จากจุดแข็งของ ปทุมธานี สภาอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี จึงมองเห็นศักยภาพของจังหวัด 3 ด้าน คือ
ด้านแรก คือ BCG Economy (สอดคล้อง แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13)
ด้านที่สอง Eco Innovative System หรือ ระบบนิเวศทางนวัตกรรม
ด้านที่สาม Smart People and Smart Manufacturing หรือการพัฒนาคน เพื่อให้คนไปพัฒนากระบวนการผลิต
แต่ที่จะมานำเสนอในวันนี้คือ โครงการสถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ปทุมธานี หรือ MARA Pathum Thani ซึ่งจัดอยู่ในการพัฒนาด้าน Smart People and Smart Manufacturing
หลักการและเหตุผล
จังหวัดปทุมธานี และกลุ่มจังหวัดภาคกลางปริมณฑล และจังหวัดใกล้เคียง เช่น อยุธยา สระบุรี นครนายก มีโรงงานอุตสาหกรรมอยู่เป็นจำนวนมาก ขนาดไม่ได้เล็กไปกว่า พื้นที่ EEC เลย
การเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต จากไลน์การผลิตแบบดั้งเดิม เป็นไลน์การผลิตอัตโนมัติ ต้องการบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่ เทคโนโลยีระบบอัตโนมัติ และหุ่นยนต์อุตสาหกรรม เป็นจำนวนมาก
กระบวนการผลิต ที่จะทำให้ปทุมธานีเป็น เมืองน่าอยู่ คู่อุตสาหกรรม จะต้องใช้เทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่ ระบบอัตโนมัติ และหุ่นยนต์ ที่เป็นมิตรต่อชุมชน และสิ่งแวดล้อม
กระบวนการผลิตสมัยใหม่ ที่เป็นมิตรต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม มิได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ หากอยู่ที่การฝึกอบรม คน หรือ แรงงาน ให้มีความสามารถในด้านการใช้เทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่ เทคโนโลยีระบบอัตโนมัติ และหุ่นยนต์อุตสาหกรรม อย่างเข้มข้น ต่อเนื่อง ตั้งแต่ระดับพื้นฐาน จนถึงระดับสูง
เมื่อ คน หรือ แรงงาน ได้รับการฝึกอบรบ กระบวนการผลิตจะถูกปรับปรุง โดยใช้เครื่องจักรสมัยใหม่ เทคโลยีระบบอัตโนมัติ และหุ่นยนต์ เข้ามาทดแทนแรงงานคน ลดความเป็น Labor Intensive ลง เพิ่มความสามารถในการผลิต ลดการสูญเสีย ลดของเสีย ลดมลพิษ ลดมลภาวะ
แรงงานก็จะมีระดับรายได้สูงขึ้น ปทุมธานี ก็จะเป็นแหล่งที่อุดมไปด้วยแรงงานที่มีความสามารถด้านการใช้เครื่องจักรสมัยใหม่ เทคโลยีอัตโนมัติ และหุ่นยนต์อุตสาหกรรม
เทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติ ที่จำเป็นจะต้องฝึกอบรมให้กับแรงงาน ของปทุมธานี เพื่อให้เกิดการพัฒนากระบวนการผลิตเป็นอัตโนมัติทั้งจังหวัด หรือกลุ่มจังหวัด จะประกอบด้วยอย่างน้อย 4 สาขาเทคโนโลยี
1.สาขาเทคโนโลยีอัตโนมัคิ และไฟฟ้าอุตสาหกรรม
2.สาขาหุ่นยนต์
3.สาขาโปรแกรมการผลิต
4.สาขาจักรกลการผลิต และเครื่องมือวัด
สิ่งที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการนี้
1.ผลิตช่างแมคคาทรอนิกส์ 500-1,000 ราย/ปี ผลิตช่างผู้ควบคุมเครื่องจักรซีเอ็นซี 200 – 500 ราย/ปี
2.เกิดการเปลี่ยนแปลงไลน์การผลิตดั้งเดิม เป็นไลน์การผลิตแบบอัตโนมัติ 100 – 500 โรงงาน/ปี
3.เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 10 ล้านบาท/โรงงาน/ปี
4.ยกระดับระดับรายได้ของแรงงงาน มากกว่า +500 บาท จำนวน 700 – 1,000 ราย/ปี
5.เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของจังหวัดปทุมธานี และขับเคลื่อนกระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยีอัตโนมัติ
6.ชุมชน และอุตสาหกรรม อยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน เป็น เมืองน่าอยู่ คู่อุตสาหกรรม ภายใน 5 ปี
งบประมาณที่จะใช้ในเฟสแรก ประกอบด้วย 3 ส่วน
1. งบปรับปรุงอาคาร
2. ครุภัณฑ์ เพื่ออบรมเครื่องจักรการผลิตสมัยใหม่
3. ครุภัณฑ์ เพื่ออบรมระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์
งบประมาณ 19 ล้านบาท
ที่ประชุมเห็นด้วยกับหลักการที่ทางสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานีนำเสนอ แต่ให้ไปแยกงบประมาณออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.งบปรับปรุงอาคาร ขอให้ใช้งบของหน่วยราชการ 2.งบครุภัณฑ์ฝึกอบรม สามารถใช้งบจังหวัดปทุมธานี หรือกลุ่มจังหวัด สนับสนุนได้
ตามที่สภาอุสาหกรรมจังหวัดปทุมธานีได้เสนอจัดตั้ง สถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ปทุมธานี (MARA-Pathum Thani) ในที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจจังหวัดปทุมธานี(กรอ.จ.ปท.) ครั้งที่ 5/2566 วันที่ 29 กันยายน 2566 เพื่อพัฒนาแรงงาน(Re Skills/Up Skills/New Skills) ของจังหวัดปทุมธานี ด้านเทคโนโลยีการผลิต ระบบอัตโนมัติ และหุ่นยนต์อุตสาหกรรม ความแจ้งแล้วนั้น
เลขานุการ กรอ.จ.ปท. แจ้งว่าได้บรรจุงบประมาณดังกล่าวลงในโครงการพัฒนาเมืองอัฉริยะ แผนปฏิบัติราชการจังหวัดปทุมธานี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 กรอบวงเงิน 19 ล้านบาท โดยแยกหน่วยรับงบประมาณออกเป็น 2 หน่วยงาน คือ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 14 ปทุมธานี และ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการบูรณาการ การทำงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถใช้งบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี จึงขอเรียนหน่วยงานหรือผู้แทน เข้าร่วมประชุมหารือจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว ในวันพฤหัสบดีที่ 2 พฤษภาคม 2567 เวลา 10.30 น. ณ ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี