วันที่ 19 กันยายน 2566 เวลา 13.30 น. ณ ห้องบัวหลวง โรงแรมทินิตี แอท บางกอก กอล์ฟคลับ จังหวัดปทุมธานี สภาอุตสหกรรมจังหวัดปทุมธานี ร่วมประชุม คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน กลุ่มจังหวัดภาคกลางปริมณฑล (กกร.กจ.) ครั้งที่ 3/2566 นำโดย นายสมควร จันทร์แดง ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี ดร.นพรัตน์ กุลหิรัญ ประธานกิติมศักดิ์ นายอรรถพล อรุโณรส รองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี น.ส.สุจินต์ ธำรงเทพพิทักษ์ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี และ ดร.วารินทร์ ชลหาญ ที่ปรึกษาสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี เข้าร่วมประชุม
การประชุมเริ่มต้นที่เวลา 13.45 น. โดยผู้ปฎิบัติหน้าที่ประธานในที่ประชุม นางสาววราภร สุนทรโชติ ผู้แทนสมาคมธนาคารกลุ่มจังหวัดภาคกลางปริมณฑล จากธนาคารกรุงเทพ กล่าวเปิดประชุม
ในระเบียบวาระเพื่อทราบ ผู้แทนจังหวัดปทุมธานี ได้หารือปัญหาผังเมืองปทุมธานี โครงการปลูกต้นไม้เพื่อปอดคนปทุมธานี และโครงการสวนสัตว์แห่งใหม่ที่กำลังก่อสร้างในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี ผู้แทนจากจังหวัดนนทบุรี ได้หยิบยกประเด็นการตัดถนนเพิ่มเติมในจังหวัดนนทบุรี การติดตั้งสัญญาณไฟแดง ที่อยากให้กลุ่มจังหวัดฯ ร่วมกันผลักดันงบประมาณ และข้อกำหนดการก่อสร้างขององค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี ผู้แทนจากจังหวัดนครปฐม ได้หยิบยกประเด็นการส่งเสริมให้จังหวัดนครปฐม เป็นพื้นที่เกษตรปลอดภัย และครัวไทยสู่ครัวโลก และการจัดงานมหกรรมอาหารปลอดภัยที่องค์พระปฐมเจดีย์
ในวาระเพื่อพิจารณา นายสมควร จันทร์แดง ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี ได้แถลงต่อที่ประชุมว่า ทุกจังหวัดในกลุ่มจังหวัดภาคกลางปริมณฑล มีสภาพปัญหา ภาวะทางเศรษฐกิจ การพัฒนาอุตสาหกรรม คล้ายๆ กัน วิสัยทัศน์ของภาครัฐและเอกชนก็คล้ายคลึงกัน คือ ต้องการให้กลุ่มจังหวัดภาคกลางปริมณฑลเป็น “กลุ่มจังหวัดอัฉริยะที่ยั่งยื่น บนฐานการวิจัยพัฒนานวัตกรรม ที่สร้างมูลค่าเพิ่ม” แต่การที่จะบรรลุได้ถึงการเป็นกลุ่มจังหวัดอัฉริยะได้นั้น การพัฒนากำลังคนและกระบวนการผลิต ให้เป็น Smart People และ Smart Manufacturing สำคัญไม่ได้น้อยไปกว่าการพัฒนาด้านอื่นๆ จึงเสนอให้ที่ประชุม ผลักดันวาระการพัฒนาคน ไปเป็นวาระการพัฒนากลุ่มจังหวัด ด้วย 3 โครงการ สำคัญ
1. โครงการศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยี ซ่อม สร้าง เครื่องจักรซีเอ็นซี เป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวิศวกรรม อัตโนมัติ และวิศวกรรมเครื่องกล เพื่อสร้างคน ให้ไป ซ่อม สร้างเครื่องจักรอัตโนมัติ ให้พื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคกลางปริมณฑล เป็นพื้นที่เศรษฐกิจฐานเทคโนโลยีมูลค่าสูง
2. โครงการศูนย์บ่มเพาะนักธุรกิจนวัตกรรมรุ่นใหม่ โดยหยิบ สิ่งประดิษฐ์ สิทธิบัตร งานวิจัย ของมหาวิทยาลัยในกลุ่มจังหวัด ขึ้นมาต่อยอดในทางพาณิชย์ สร้าง Eco-Innovative System ให้เกิดขึ้นระหว่าง บัณฑิตจบใหม่ มหาวิทยาลัย หอการค้า สภาอุตสาหกรรม แหล่งเงินทุน และภาครัฐ เพื่อบ่มเพาะนักธุรกิจนวัตกรรม ให้เกิดขึ้นทั่วทั้งภูมิภาค และนักธุรกิจนวัตกรรมรุ่นใหม่เหล่านี้ จะไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจของกลุ่มจังหวัดบนฐานนวัตกรรมและเทคโนโลยี
3. จัดตั้งสถาบันฝึกอบรม Re Skill Up Skill และ New Skill เพื่อพัฒนาแรงงานให้มีความรู้ความสามารถด้านการผลิตสมัยใหม่ เทคโนโลยีอัตโนมัติ และหุ่นยนต์ เพื่อให้คนเป็น Smart People ไปพัฒนากระบวนการผลิตให้เป็น Smart Manufacturing ยกระดับรายได้ของแรงงาน และการผลิต ทั่วทั้งภูมิภาค