ตลอด 50 ปีตั้งแต่ประเทศไทยพัฒนาประเทศเข้าสู่ความเป็นอุตสาหกรรม มีการนำเข้าเครื่องจักรกลเพื่อการผลิตมูลค่ามหาศาล เครื่องจักรซีเอ็นซีเป็นเทคโนโลยีการผลิตต้นน้ำที่มีการนำเข้าสูงที่สุดในลำดับต้นๆ แม้ปัจจุบัน เครื่องจักร เครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องใช้กล ก็ยังคงมียอดนำเข้าในแต่ละปี มากกว่า 1 ล้านล้านบาท

เทคโนโลยีเครื่องจักรซีเอ็นซี เป็นเทคโนโลยีการผลิตที่มีราคาสูงตั้งแต่ 1 – 10 ล้านบาทต่อเครื่อง มีอายุการใช้งาน 10 – 15 ปี สามารถสร้างมูลค่าการผลิตได้มหาศาล แต่หลังจากนั้นผู้ใช้งานจะพบกับปัญหาการซ่อมบำรุง มีค่าใช้จ่ายสูง หรือไม่สามารถหาอะไหล่ทดแทนได้จนต้องขายทิ้งในราคามือสอง หรือชั่งกิโลขายเป็นเศษเหล็ก
เมื่อพิจารณาความเสียหายของเครื่องจักรซีเอ็นซี พบว่าเครื่องจักรส่วนใหญ่มีความเสียหายทางไฟฟ้าควบคุม แต่ระบบทางกลยังคงใช้งานได้ดี หรือสามารถปรับแก้ไขให้กลับมาใช้งานได้ดังเดิม และปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงระบบไฟฟ้าควบคุมใหม่ทำได้ง่ายกว่าในอดีต มีผู้ผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าควบคุมที่มีชื่อเสียงระดับโลก ผลิตออกมาจำหน่ายหลายราย แต่การนำอุปกรณ์เหล่านั้นมาใช้งานเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความรู้ทางวิศวกรรม ผสมผสานระหว่าง วิศวกรรมเครื่องกล และวิศวกรรมระบบอัตโนมัติ ส่วนการนำเครื่องจักรไปใช้งานก็จะต้องมีความรู้ด้านวิศวกรรมการผลิต เมื่อต้องผสมผสานองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมหลายแขนงการถ่ายทอดเทคโนโลยีจึงจำเป็นที่จะต้องมีการจัดทำอย่างเป็นระบบ มีการส่งเสริมจากภาครัฐที่เหมาะสม เพราะการนำเครื่องจักรเก่า มาทำการซ่อม สร้าง ให้กลับมาใช้งานได้เหมือนใหม่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล ด้วยเงินลงทุนเพียง 20 – 30% จะทำให้เราได้เครื่องจักรซีเอ็นซีเหมือนใหม่กลับมาใช้งานอีกครั้ง ลดการนำเข้ามหาศาล จัดเป็น BCG Economy ในกลุ่ม Circular Economy หมุนเวียนเทคโนโลยีกลับมาใช้งานใหม่ การซ่อม สร้าง เครื่องจักรซีเอ็นซี เป็นกิจกรรมทางธุรกิจที่สะอาด ไม่สร้างมลพิษ มลภาวะ ไม่มีกระบวนการผลิตแปรลูกที่จะสร้างของเสียใดๆ มีมูลค่าสูงแต่ลงทุนต่ำ
สภาอุตสหกรรมจังหวัดปทุมธานี โดยนายสมควร จันทร์แดง ประธานสภาฯ จึงเล็งเห็นโอกาสที่จังหวัดปทุมธานีจะเป็นศูนย์กลางในการซ่อมสร้าง เครื่องจักรซีเอ็นซี ของประเทศ จึงจัดทำโครงการต้นแบบขึ้นที่ บริษัท ยูเนี่ยน แอพพลาย จำกัด โดยได้รับความร่วมมือจาก ดร.วารินทร์ ชลหาญ ที่ปรึกษาด้านจักรกลอัฉริยะบริษัท เดลต้า อิเล็กทรอนิกส์(ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน) และ ผศ.ดร.มนูญศักดิ์ จานทอง อาจารย์ด้านระบบควบคุมอัตโนมัติ ภาควิชาวิศกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มาเป็นวิทยากรฝึกอบรม เพื่อจัดทำเครื่องต้นแบบ และจะฝึกอบรมให้กับผู้ประกอบการที่สนใจต่อไป
พิธิเปิดการฝึกอบรมเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2566 เวลา 9.30 น. ณ สำนักงาน บริษัท ยูเนี่ยน แอพพลาย จำกัด โดย ดร.วิทูร เจียมจิตต์ตรง ประธานกลุ่มงานนวัตกรรมและการจัดการ ได้กล่าวรายงานที่มาของโครงการ และนายสมควร จันทร์แดง ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี ได้กล่าวเปิดกิจกรรม โดยมีผู้เข้าร่วมอบรมทั้งสิ้น 22 ท่าน จากผู้ประกอบการ 8 ราย มีการฝึกการ ซ่อม สร้าง เครื่องจักรซีเอ็นซี(รีโทรฟิต) ขึ้นมาเพื่อประกอบการเรียนรู้จำนวน 1 เครื่องและเครื่องดังกล่าวจะถูกส่งกลับเข้าไลน์การผลิตจริงเมื่อเสร็จสิ้นโครงการ







