วันที่ 18 สิงหาคม 2566 เวลา 9.00 น ณ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 14 ปทุมธานี(สพร.ปทุมธานี) อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี นายสมควร จันทร์แดง ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี ดร.วิทูร เจียมจิตต์ตรง ดร.วารินทรํ ชลหาญ ที่ปรึกษาสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี กลุ่มงานนวัตกรรมและการจัดการ เดินทางเข้าพบ นางกิติมา ศิริประธาน ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 14 ปทุมธานี เพื่อหารือเร่งด่วนการจัดฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่ ระบบอัตโนมัติ และหุ่นยนต์ รองรับความต้องการที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว
ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี ได้กล่าวว่า จังหวัดปทุมธานีและจังหวัดใกล้เคียงเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่ และปรับเปลียนไลน์การผลิตเป็นอัตโนมัติ โดยนำเทคโนโลยีการผลิตเช่น เครื่องจักรอัตโนมัติสมัยใหม่ อุปกรณ์ไฟฟ้าควบคุมอัตโนมัติ เช่น พีแอลซี เอชเอ็มไอ เซอร์โวเมอร์เตอร์และไดรว์ว อินเวอร์เตอร์ และหุ่นยนต์เข้ามาใช้ ดังนั้นภาคอุตสาหกรรมจะมีความต้องการบุคลากรด้านนี้เป็นจำนวนมาก และทวีความจำเป็นขึ้นทุกวัน และยังเป็นพื้นฐานการก้าวสู่การผลิตแบบ Factory 4.0 วันนี้จึงมาหารือกับ ทางสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 14 ปทุมธานี เพื่อร่วมกันหาแนวทางการจัดฝึกอบรมดังกล่าวโดยเร็วที่สุด ดร.วิทูร เจียมจิตต์ตรง ได้กล่าวว่ามีการฝึกอบรมหลายหลักสูตรที่ภาคอุตสาหกรรมมีความต้องการและจะต้องฝึกอบรมให้แก่บุคลากร จึงอยากจะนำหัวข้อหลักสูตรเหล่านี้มาจัดฝึกอบรมร่วมกับทาง สพร.ปทุมธานี เช่น การฝึกอบรมด้านความปลอดภัยตามที่กฎหมายกำหนด การฝึกอบรมเพื่อเพิ่มผลผลิต และการฝึกอบรมตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG ต่อมา นางกิติมา ศิริประธาน ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาฝีแรงงาน 14 ปทุมธานี ได้กล่าวต่อคณะของสภาอุตสาหกรรมปทุมธานีว่า ทาง สพร.ปทุมธานี มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะจัดฝึกอบรมให้สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ และยินดีที่จะทำงานร่วมกัน สิ่งใดทำได้ก่อนสอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ และระเบียบราชการ ก็อยากให้ดำเนินการทำเลย หลังจากนั้น ดร.วารินทร์ ชลหาญ ได้เสนอที่ประชุมให้แบ่งหัวข้อการทำงานร่วมกันออกเป็น 3 ประเด็น ดังนี้
1. การฝึกอบรมทางอุตสาหกรรมที่สามารถทำได้เลยทันทีเช่น การฝึกอบรมด้านการผลิตสมัยใหม่ที่สามารถใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์จำลองการทำงานเพื่อการเรียนรู้ หรือเป็นการบรรยายโดยวิทยากร และมีหลักสูตรที่ทางกรมพัฒนาฝีมือแรงานอนุมัติให้ดำเนินการได้อยู่แล้ว ให้สามารถใช้งบประมาณการฝึกอบรมที่มีอยู่ โดยให้ทางสภาอุตสาหกรรมเสนอหัวข้อการฝึกอบรมเข้ามาและช่วยจัดหาวิทยากร ที่ประชุมมอบหมายให้ ดร.วิทูร เจียมจิตต์ตรง ประธานสาขานวัตกรรมและการจัดการ ไปรวบรวมหัวข้อการฝึกอบรมกลับเข้ามานำเสนออีกครั้ง
2. การฝึกอบรมทางอุตสาหกรรมที่ต้องใช้คุรุภัณฑ์ เครื่องจักร หุ่นยนต์ อุปกรณ์ออโตเมชั่น มอบหมายให้ทาง ดร.วารินทร์ ชลหาญ ที่ปรึกษาสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี ไปดำเนินการหารือกับทาง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เพื่อขอใช้สถานที่และวิทยากรของทางมหาวิทยาลัยไปพรางก่อน โดยทางสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน พร้อมสนับสนุนงบประมาณตามระเบียบราชการ
3.โครงการสถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ปทุมธานี (MARA Pathum-Thani) สภาอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานีจะผลักดันโครงการเพื่อขอรับงบประมาณจากแหล่งต่างๆ โดยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 14 ปทุมธานี เป็นหน่วยรับงบประมาณและดำเนินการ ร่วมกันจัดทำข้อมูลเพื่อขอรับงบประมาณ เพื่อให้สถาบันดังกล่าวกลายเป็นองค์กรหลักในการจัดฝึกอบรม Up Skill/ Re Skill ด้านเทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่ ระบบอัตโนมัติ และหุ่นยนต์ ต่อไป
เนื่องจากการทำงานร่วมกันครั้งนี้ต้องอาศัยการทำงานร่วมกัน 3 ฝ่าย ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมจังหวัด ปทุมธานี สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 14 ปทุมธานี และ มหาวิทายลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ซึ่งบางหลักสูตรด้านอุตสาหกรรมต้องอาศัยสถานที่และบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะจากทางมหาวิทยาลัย ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาฝีแรงงาน 14 ปทุมธานี จึงได้นำเสนอร่างความร่วมมือ (MOU) ให้ที่ประชุมได้พิจารณา หลังจากนั้น ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 14 ปทุมธานี ได้นำคณะของทางสภาอุตสาหกรรม ดูพื้นที่ที่ใช้ในการฝึกอบรม รวมถึงอาคารที่อยากจะนำมาปรับปรุงเพื่อใช้ในการฝึกอบรมเทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่ ระบบอัตโนมัติ และ หุ่นยนต์