ศูนย์บ่มเพาะนักธุรกิจนวัตกรรมรุ่นใหม่ (RMUTT Innovative StartUP Park)

Project

RMUTT Innovative Startup Park เครื่องมือเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมการผลิตสินค้านวัตกรรม และจุดเริ่มต้นของการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเริ่มต้นธุรกิจนวัตกรรม ปทุมธานี

นายสมควร จันทร์แดง ประธานสภาอุตสาหกรรจังหวัดปทุมธานี
ดร.วารินทร์ ชลหาญ ที่ปรึกษาสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี
6 สิงหาคม 2566

สภาพอุตสาหกรรมปทุมธานีปัจจุบัน

อุตสาหกรรมของจังหวัดปทุมธานีมาถึงจุดท้าทายครั้งสำคัญ เนื่องมาจากการแข่งขันของอุตสาหกรรมกับพื้นที่อื่นที่มีต้นทุนต่ำกว่า การส่งเสริมการลงทุนที่เหนือกว่า ราคาที่ดินที่สูงขึ้นแบบก้าวกระโดด การขยายตัวของชุนชนที่พักอาศัย ทำให้การขยายกำลังการผลิตเป็นไปอย่างจำกัด เกิดเป็นปัญหาผังเมือง ค่าครองชีพสูงขึ้น อัตราค่าจ้างจริงขยับสูงขึ้น ระดับการศึกษาของผู้คนในเมืองที่สูงขึ้น การเลือกงาน อุตสาหกรรมจำนวนมากมีแน้วโน้มที่จะย้ายออกจากพื้นที่ปทุมธานี เช่น อุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมยานยนต์ รวมถึงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่จำนวนมาก มีแน้วโน้มย้ายฐานการผลิตออกไปตั้งในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือจังหวัดรอบนอก เช่นนครนายก อยุธยา สระบุรี นครปฐม ดังนั้นการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อผลิตสินค้าทั่วไป หรือรับเหมาค่าแรง ในพื้นที่จังหวัดปทุมธานีอาจจะไม่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมเหล่านี้อีกต่อไป แนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนคือการมองหา New S-Curves ที่จะทำให้ปทุมธานี เป็นฐานการผลิตสินค้าและบริการมูลค่าสูงบนฐานนวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยนำจุดแข็งของจังหวัดปทุมธานีมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

จุดแข็งของปทุมธานีทางอุตสาหกรรม เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่จุดศูนย์กลางของประเทศ การคมนาคมสะดวก มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี ระบบสาธารณูปโภคครบถ้วน มีทรัพยากรบุคคลที่มีการศึกษาที่ดี มีแรงงานในภาคการผลิตอยู่เป็นจำนวนมาก มีสถาบันการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีชื่อเสียงตั้งอยู่ในพื้นที่หลายแห่ง มีนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ถึงสองแห่งคือ สวนอุตสาหกรรมบางกะดี และนิคมอุตสาหกรรมนวนคร และมีโรงงานอุตสาหกรรมกระจายอยู่ทั่วพื้นที่ทำให้ที่มีกำลังการผลิตและการจ้างงานขนาดใหญ่ เมื่อพิจารณาแล้ว New S Curves จะต้องอาศัยประโยชน์จากจุดแข็งเหล่านี้

แผนพัฒนาจังหวัดปทุมธานี ปี 2566-2570

จังหวัดปทุมธานีได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาจังหวัดตามแผนพัฒนาจังหวัดปี 2566-2570 ไว้ว่า  “ปทุมธานี เมืองน่าอยู่ ศูนย์กลางธุรกิจบริการ และฐานการผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าสูง” ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บท และแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคกลางปริมณฑล ดังนี้

ยุทธศาสตร์ชาติ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากร ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

แผนแม่บท แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติประเด็นการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม แผนย่อยการวิจัยและพัฒนาด้านเศรษฐกิจ และแผนแม่บทประเด็นผู้ประกอบการและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมยุคใหม่ แผนย่อยการสร้างความเข้มแข็งผู้ประกอบการอัจฉริยะ ระบบนิเวศนวัตกรรม (Eco-Innovation System) โดยปัจจัยที่สนับสนุนให้เกิดระบบนิเวศนวัตกรรม ได้แก่ 

1. ความพร้อมและเหมาะสมของพื้นที่เศรษฐกิจนวัตกรรมที่มีต่อวิสาหกิจในกลุ่มเป้าหมาย
2. โครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานระดับสากล
3. การเชื่อมโยงระบบนิเวศนวัตกรรมในประเทศกับต่างประเทศ และ
4. แพลตฟอร์มการให้บริการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรม และผู้พัฒนาธุรกิจนวัตกรรม

แผนพัฒนาจังหวัด จังหวัดปทุมธานีดำเนินการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด (พ.ศ.2566–2570) โดยยึดยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ.2561–2580) แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายรัฐบาล รวมทั้งแผนรายสาขา แผนเฉพาะด้านต่างๆ ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีและข้อสั่งการของ นายกรัฐมนตรีเป็นกรอบการดำเนินงาน อีกทั้งยังคำนึงถึงแผนพัฒนาภาคกลางปริมณฑลที่มุ่งเน้น “ฐานการผลิตสินค้า และบริการมูลค่าสูง”

ประเด็นการพัฒนาของจังหวัด เป้าหมายการพัฒนาจังหวัดปทุมธานี (พ.ศ.2566-2570) ข้อ 1.เป้าหมายการพัฒนาจังหวัดปทุมธานี (Goal) “ปทุมธานี เมืองน่าอยู่ ศูนย์กลางธุรกิจบริการ และฐานการผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าสูง” และประเด็นยุทธศาสตร์และแนวทางการพัฒนาที่เกี่ยวกับภาคอุตสาหกรรมคือ ประเด็นการพัฒนาที่ 2 การยกระดับการผลิต ภาคการเกษตร อุตสาหกรรม และบริการให้มีมูลค่าสูง ได้มาตรฐานสู่ตลาดโลก โดยมีแนวทางการพัฒนาจำนวน 3 ข้อดังนี้

1. พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตร และ อุตสาหกรรม
2. เพิ่มขีดความสามารถเชิงธุรกิจของผู้ประกอบการและธุรกิจบริการ
3. พัฒนาตลาดสินค้าเกษตร อุตสาหกรรม และธุรกิจบริการ เชื่อมโยงตลาดโลก

สิ่งประดิษฐ์ สิทธิบัตร และงานวิจัย แหล่งน้ำมันดิบที่รอคอยการนำมาใช้

การเปลี่ยนแปลงจากการผลิตสินค้าแบบดั้งเดิมไปเป็นการผลิตสินค้านวัตกรรม ต้องอาศัยการทำงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง ใช้เม็ดเงินลงทุนเป็นจำนวนมาก ซึ่งภาคอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม ไม่มีศักยภาพทางการเงินเพียงพอต่อการลงทุนดังกล่าว แต่ทั้งนี้ภาคการศึกษา วิจัยและพัฒนาของสถาบันการศึกษาในประเทศไทยมีการทำงานวิจัยมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน แต่ขาดการเชื่อมประสานระหว่างภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรม งานวิจัยที่สามารถต่อยอดทางพาณิชย์จำนวนมากจึงมิได้ถูกนำมาใช้อย่างเข้มข้ม จังหวัดปทุมธานีนั้นมีจุดแข็ง เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยที่มีการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เป็นมหาวิทยาลัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี บ้านของพวกเรา อุดมไปด้วยคณาจารย์คุณภาพสูงที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งในและต่างประเทศอยู่เป็นจำนวนมาก มีงานวิจัยคุณภาพสูงเป็นจำนวนมาก  โดย ในปี 2021 google scholar จัดอันดับการอ้างอิงผลงานทางวิชาการ ให้มหาวิทยาลัยเป็นอันดับที่ 1 จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ทั้ง 9 แห่ง เป็นอันดับที่ 2 จากมหาวิทยาลัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ และเป็นอันดับที่ 14 จากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ และยังมีงานวิจัยในระดับมาตรฐานสากล ที่สามารถสืบค้นบนฐานข้อมูล Scorpus สูงถึง 300 งานวิจัย เรียกได้ว่า เป็นมหาวิทยาลัยที่มีผลงานวิจัยที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลสูงที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ ยังไม่พอเท่านั้น ผลงานวิจัยโดดเด่น และนำไปต่อยอดทางพาณิชย์ ก็มีอยู่เป็นจำนวนมาก เช่นในเวทีงาน  International Exhibition of Inventions Geneva 2023 ล่าสุดที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยสามารถคว้ารางวัล ผลงานวิจัยเด่น ได้ถึง 7 ผลงาน  และในงานเดียวกัน จากการประกวดผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ และนวัตกรรม ทางมหาวิทยาลัย ยังได้รับรางวัลอีกถึง 9 รางวัล และยังพบว่า เอกสารเผยแพร่ธรรมเนียบงานวิจัยและนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ ได้แสดงผลงานอีกกว่า 220 ผลงาน เอกสารเผยแพร่ทำเนียบทรัพย์สินทางปัญหา ได้แสดงผลงานอีกถึง 226 ผลงาน ที่สามารถเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์นำออกสู่ตลาด สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของจังหวัดปทุมธานี จากที่ได้กล่าวมา ทำให้เห็นว่ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มีความพร้อมทั้งด้านบุคลากร และทรัพยากร ที่สามารถต่อยอดในทางพาณิชย์ อยู่อย่างอุดมสมบูรณ์

บัณฑิตจบใหม่ทรัพยากรที่มีค่ายิ่ง ปัจจุบันมหาวิทยาลัย มีนักศึกษา กำลังศึกษาในทุกระดับรวมกันกว่า 27,800 ราย มีผู้สำเร็จการศึกษาในแต่ละปีราว 5,000 ราย การผลิตบัณฑิตให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่รวดเร็ว การแข่งขันที่ไร้ขอบเขตพรมแดนกั้น เป็นสิ่งที่ท้าทายมากของมหาวิทยาลัยในจำนวนนักศึกษา 5,000 รายที่สำเร็จการศึกษา อาจแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่

กลุ่มแรก คือกลุ่มที่จะเข้าสู่ภาคธุรกิจการค้า ภาคการผลิต และภาคบริการ กลุ่มนี้คาดว่าน่าจะมีมากที่สุด สูงถึง 80% ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ท้าทายของทางมหาวิทยาลัย ในการจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับตลาดแรงงาน

กลุ่มที่สอง ก็คือน้องๆ ทุกคนที่ไม่ประสงค์จะเป็นลูกจ้าง คือกลุ่ม 20% ที่มีความต้องการจะสร้างอาณาจักรทางธุรกิจเป็นของตนเอง โดยถ้าคิดจากตัวเลขคร่าวๆ คาดว่าในแต่ละปี มีไม่น้อยกว่า 1,000 ราย ลองคำนวณ คร่าวๆ ว่าถ้าน้องๆ 1,000 รายนี้ สามารถเป็นเจ้าของธุรกิจและสามารถสร้างยอดธุรกิจได้รายละ 1,000,0000 บาท นั้นหมายถึง จังหวัดปทุมธานีของพวกเรานั้นจะมีเม็ดเงินไหล่เข้ามาเพิ่มในระบบเศรษฐกิจ ไม่น้อยไปกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี และถ้าเราคาดหวังต่อว่าในจำนวน 1,000 ราย มี 100 ราย ที่สามารถสร้างยอดธุรกิจ 10,000,000 ล้านบาทต่อปี และยิ่งกว่านั้น ใน 100 ราย หากมีสัก 10 รายที่สามารถสร้างยอดธุรกิจได้ปีละ 100,000,000 ล้านบาท หากจินตนาการนี้เป็นจริง นั้นหมายความว่าระบบเศรษฐกิจของจังหวัดปทุมธานีจะมีเม็ดเงินเพิ่มขึ้นปีละไม่น้อยไปกว่า 2,000 – 3,000 พันล้านบาท เม็ดเงินเหล่านี้จะหมุนอยู่ในเศรษฐกิจหลายรอบ สร้างมูลค่ารวมทางเศรษฐกิจของปทุมธานีไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี

นักธุรกิจรุ่นใหม่ และอุตสาหกรรมปัจจุบัน Win-Win Situation

ทั้งหมดนี่ย่อมไม่ใช่ความฝัน หากแต่สามารถเกิดขึ้นได้จริงด้วยการสร้าง Eco-Innovative System ที่เอื้อต่อการเกิดขึ้นของนักธุรกิจรุ่นใหม่ และความร่วมมือจากพลังการผลิต พลังการตลาด และเครือข่ายของนักธุรกิจปัจจุบัน ดังนั้นการสร้าง Eco-Innovative System ที่เอื้อต่อการเกิดขึ้นของนักธุรกิจรุ่นใหม่ มิได้หมายความว่าเราจะสร้างนักธุรกิจรุ่นใหม่ ให้เติบโตกลายเป็นเจ้าของอาณาจักรธุรกิจที่ยิ่งใหญ่โดยตัวเขาแต่ลำพังเท่านั้น หากอยู่ที่การสร้าง Eco-Innovative System ให้เกิดความลงตัว เกิดความร่วมมือ ระหว่างนักธุรกิจรุ่นใหม่ และนักธุรกิจปัจจุบัน สามารถทำงานร่วมกัน สร้างผลผลิตร่วมกัน ประสบความสำเร็จทางการตลาดร่วมกัน การจะเกิดสิ่งนี้ได้ มหาวิทยาลัยไม่อาจเดินหน้าผลิตบัณฑิตกลุ่ม 20% นี้ได้โดยลำพัง ต้องเริ่มที่การทำงานร่วมกับสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี ตั้งแต่การร่างหลักสูตร ปรับปรุงหลักสูตร ที่สามารถนำความรู้ไปใช้ได้จริง สร้างบรรยากาศทางนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ สร้างกิจกรรมกระตุ้นความอยากจะเป็นผู้ประกอบการของว่าที่นักธุรกิจรุ่นใหม่ ตั้งแต่พวกเขายังเป็นนักศึกษา มหาวิทยาลัยและภาคอุตสาหกรรม ต้องร่วมกันค้นหา ว่านักธุรกิจรุ่นใหม่ จะเข้ามาเสริมสร้างความแข็งแรงของธุรกิจปัจจุบันได้อย่างไร แล้วจึงสร้าง Eco-Innovative System ให้ทั้งสองฝ่ายได้แชร์ศักยภาพร่วมกัน ยกตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัยมีสิทธิบัตรด้านชีวภาพที่สามารถเปลี่ยนเป็นสินค้าทางพาณิชย์ได้ นักธุรกิจรุ่นใหม่ ก็มีพลังทางสมอง มีความรู้ในสินค้าตัวนั้น มีพลังทางการติดต่อสื่อสาร มีเทคโนโลยีสมัยใหม่ เชื่อมโยง ภาคการตลาด ภาคการผลิต ภาคโลจิสติกส์ ให้เกิดการประสานกันแบบไร้รอยต่อ เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างพลังใหม่และพลังปัจจุบัน ภายใต้ Eco-Innovative System เสมือนหนึ่งเป็นธุรกิจเดียวกัน ที่นักธุรกิจใหม่ ไม่ต้องแบกรับภาระการเริ่มธุรกิจที่สูงเกินไป ไม่ต้องตั้งไลน์การผลิตที่ต้องลงทุนด้วยเงินมหาศาล มีสถานที่ Co-Working Space มีแฟกซิลิตี้แบบสำนักงาน มีห้องประชุม พบปะลูกค้า พูดคุยกับซัพพลายเชน (Supply Chain) มีการสนับสนุนการฝึกอบรมทางธุรกิจ มีแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินที่เข้าถึงไม่ยากเกินไป เมื่อเป็นเช่นนี้ บัณฑิต 20% หรือ 1,000 ราย นี้ย่อมเป็นที่ต้องการของภาคอุตสาหกรรม แต่มิใช่ในฐานะลูกจ้าง แต่ในฐานะหุ้นส่วนทางการค้า ร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งของ ห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ที่ทรงพลัง มิได้แข่งขันกันเอง แต่เป็นการร่วมมือกันสร้างอาณาจักรทางธุรกิจที่ลงตัวกันทุกฝ่าย (Win-Win situation)

เป็นเวลากว่า 50 ปี ตั้งแต่ประเทศไทยเรามีการจัดการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ เราผลักบัณฑิตจบใหม่ 100% เข้าสู่ตลาดแรงงาน กลายเป็นลูกจ้างในสถานประกอบการซึ่งก็มิใช่เรื่องที่ผิด แต่มีนักศึกษาจำนวนมาก ที่มีศักยภาพ มีความฝัน มีความทะเยอทะยานที่ไปได้ไกลกว่านั้นสามารถก้าวขึ้นมาเป็นนักธุรกิจรุ่นใหม่ ทั้งหมดนี้ผมคงมิได้ฝันไป หากแต่สามารถเกิดขึ้นได้จริง และเกิดขึ้นที่นี้ ปทุมธานี บ้านของเรา

Eco-Innovative System

การสร้างระบบนิเวศเพื่อส่งเสริม Startup ถือเป็นกลยุทธ์สำคัญในการดึงภาคธุรกิจเข้ามาเชื่อมต่อกับมหาวิทยาลัย เพื่อสร้างสรรค์และพัฒนาผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ทั้งในระดับการเรียนการสอน การฝึกงาน หรือการตั้งธุรกิจจริง มีพื้นที่บ่มเพาะที่เอื้อต่อการพบปะระหว่างผู้ประกอบการ อาจารย์ นักวิจัย นักศึกษา ผู้ผลิต นักลงทุน และหน่วยราชการที่มีภารกิจเกี่ยวข้อง เป็นแหล่งสร้างนวัตกรรม แหล่งบ่มเพาะธุรกิจ รวมถึงเป็นแหล่งการเรียนรู้ ของนักศึกษาบัณฑิต ผู้ประกอบการระดับชุมชน และ SMEs โดยมีการเชื่อมโยงกันดังนี้

1. มทร.ธัญบุรี มีความรู้ สิ่งประดิษฐ์ สิทธิบัตร งานวิจัย ที่ต่อยอดทางพาณิชย์ได้ และมีสถานที่ สิ่งอำนวยความสะดวก ให้นักธุรกิจนวัตกรรมทำงาน ภาระการเริ่มธุรกิจไม่สูง (RMUTT Innovative Startup Park) จัดสัมมนา ประชุม เชื่อมโยงนักลงทุน
2. สภาอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี มีกำลังการผลิต และโลจิสติกส์ สนับสนุน
3. หอการค้าจังหวัดปทุมธานี มีช่องทางการจัดจำหน่าย มีเครือข่ายการค้า
4. ชมรมธนาคารปทุมธานี มีเงื่อนไขการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ไม่ยากเกินไป
5. ภาครัฐ โดยจังหวัดปทุมธานี สามารถที่จะบูรณาการให้ เกิด กฎ ระเบียบ สิทธิประโยชน์ที่จะเอื้อให้การเริ่มธุรกิจเป็นไปโดยสะดวก พาณิชย์ อุตสาหกรรม สรรพกร พัฒนาชุมชน หรือหน่วยราชการอื่นๆ สามารถคลัสเตอร์ ให้เกิดการส่งเสริมได้โดยง่าย ตรงกับความต้องการ

RMUTT Innovative Startup Park

วันที่ 23 มิถุนายน 2566 เวลา 9.30 น ณ ห้องประชุม มังคลอุบล ตึกอธิการบดี นายสมควร จันทร์แดง ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี นายชวลิต ครองสิน ประธานกิตติมศักดิ์ นายอรรถพล อรุโณรส รองประธานฯ นางสาวสุจินต์ ธำรงค์เทพพิทักษ์ เลขาธิการสภาฯ ดร.วิทูร เจียมจิตต์ตรง ดร.มาลัย ชมภูกา ดร.วารินทร์ ชลหาญ ที่ปรึกษาสภาฯ นายเทิดศักดิ์ วิสุทธิแพทย์ นายพสุเชษฐ์ โฆษิตสกุล กรรมการสภาฯ ได้ร่วมประชุมสองฝ่ายกับคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ธัญบุรี นำโดย รศ.ดร.กฤษณ์ชนม์ ภูมิกิตติพิชญ์ รองอธิการบดี และผู้บริหารมหาวิทยาลัย เช่น นายวิรัช โหตระไวศยะ รศ.ดร.สุมนมาลย์ เนียมหลาง ผศ.ดร.พงศ์พิชญ์ ต่วนภูษา รองอธิการบดี และ ผศ.ดร.เกรียงศักดิ์ แสงประดิษฐ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา และคณาจารย์ของทางมหาวิทยาลัย ประชุมร่วมกันเพื่อหารือกรอบความร่วมมือ (MOU) ในการหารือดังกล่าวได้กำหนดกรอบความร่วมมือไว้ 6 ประเด็น โดยกรอบความร่วมมือประเด็นที่ 3 เป็นการร่วมกันผลักดันการจัดตั้ง RMUTT Innovative Startup Park  เพื่อให้เกิด Eco-Innovative System ในการสร้างนักธุรกิจนวัตกรรมรุ่นใหม่ ทั้งนักศึกษาของทางมหาวิทยาลัย ผู้ประกอบการชุมชน และ SMEs ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะร่วมกันสนับสนุนบุคลากร สถานที่ วัสดุอุปกรณ์ การประสานงานกับเครือข่ายและความร่วมมือกับเครือข่าย เพื่อสนับสนุนกิจกรรมของโครงการ รวมถึงการผลักดันให้เกิด RMUTT Innovative Startup Park  มีทรัพยากรที่พร้อมบริการสำหรับการเริ่มธุรกิจใหม่ในราคาที่ไม่แพง ร่วมกันจัดหางบประมาณทั้งจากภาคเอกชนและภาครัฐ เช่น งบบริจาคจากภาคเอกชนเพื่อลดหย่อนภาษีเงินได้ งบประมาณจากจังหวัดปทุมธานี งบประมาณจากกลุ่มจังหวัดภาคกลางปริมณฑล งบประมาณจากกองทุนต่างๆ หรือจากหน่วยงานอื่นๆ ที่สามารถให้การสนับสนุน

วันจันทร์ที่ 10 กรกฎาคม 2566 เวลา 9.30 น. ณ ศาลากลางจังหวัดปทุมธานี สภาอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี(มทร.ธัญบุรี) เข้าพบรองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ด้านเศรษฐกิจเพื่อขอคำชี้แนะโครงการ RMUTT Innovative Startup Park  นายสมควร จันทร์แดง ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานีและคณะ ประกอบด้วย นางสาวสุจินต์ ธำรงค์เทพพิทักษ์ เลขาธิการสภาฯ ดร.วิทูร เจียมจิตต์ตรง ดร.วารินทร์ ชลหาญ ที่ปรึกษาสภาฯ และ ผศ.ดร.เกียรติศักดิ์ แสงประดิษฐ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา มทร.ธัญบุรี เดินทางเข้าพบ นายพงศธร กาญจนะจิตรา รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี เพื่อขอคำชี้แนะการดำเนินโครงการ RMUTT Innovative Startup Park โดยประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานีได้เรียนต่อ รองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ว่าสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานีได้ทำงานร่วมกับ มทร.ธัญบุรี มาแล้วระยะหนึ่ง เห็นว่าทางมหาวิทยาลัย มีสิ่งประดิษฐ์ สิทธิบัตร และงานวิจัย ที่สามารถต่อยอดทางพาณิชย์อยู่เป็นจำนวนมาก และในแต่ละปีมีนักศึกษาสำเร็จการศึกษาเป็นจำนวนมาก นักศึกษาจำนวนไม่น้อยสามารถเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ จึงอยากจะผลักดันโครงการดังกล่าว เพื่อเข้ารับงบประมาณบูรณาการของกระทรวงมหาดไทย ทั้งนี้เพราะศูนย์บ่มเพาะฯ จะทำให้บัณฑิตจบใหม่จำนวนมากของทาง มทร.ธัญบุรี ก้าวขึ้นมาเป็นนักธุรกิจนวัตกรรม ร่วมถึงการสร้าง Eco-Innovative System ที่เอื้อต่อการเริ่มธุรกิจ ลดอุปสรรค เข้าถึงแหล่งเงินทุน และสร้าง New S-Curves ใหม่ให้กับอุตสาหกรรมของจังหวัดปทุมธานี เกิดการทำงานร่วมกันแบบบูรณาการของ ภาคการศึกษา ภาคเอกชน และภาครัฐ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดปทุมธานี บนฐานนวัตกรรมและเทคโนโลยี หลังจากฟังการชี้แจงจากทางคณะของสภาอุตสาหกรรมฯ รองผู้ว่าราชการจังหวัด ได้กรุณาแสดงความคิดเห็นว่าโครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่ดี สมควรที่ทางจังหวัดจะให้การสนับสนุน จึงได้กรุณาแนะนำให้เสนอเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ขั้นตอน โดยเสนอผ่านเข้ามาทางการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจจังหวัดปทุมธานี (กรอ.จ.ปทุมธานี) ที่จะถึงช่วงกลางเดือน และอยากให้แสวงหาความร่วมมือในระดับกลุ่มจังหวัดต่อไปด้วย ทั้งนี้ท่าน รอง ผวจ. จะช่วยประสานไปทางสำนักงานจังหวัดปทุมธานีบรรจุลงในแผนงบประมาณของจังหวัดปีงบประมาณ 2568 ในการหารือครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก นายสราวุธ พรทิพย์ หัวหน้ากลุ่มนโยบายและแผนงาน สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี เป็นผู้แทนอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี เข้าร่วมประชุมด้วย

วันพุธที่ 19 กรกฎาคม 2566 เวลา 13.30 น ณ ห้องประชุมบัวหลวง ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดปทุมธานี สภาอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี นำโดย นางสาวสุจินต์ ธำรงค์เทพพิทักษ์ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี  ดร.วารินทร์ ชลหาญ ที่ปรึกษาสภาฯ กลุ่มงานนวัตกรรมและการจัดการ ผศ.ดร.เกียรติศักดิ์ แสงประดิษฐ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ธัญบุรี ได้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ จังหวัดปทุมธานี ครั้งที่ 4/2566 โดยมี รักษาราชการแทน ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี นายอดิเทพ กมลเวชช์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย นายสิทธิชัย สวัสดิ์แสน และนายพงศธร กาญจนะจิตรา รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ร่วมเป็นประธานการประชุม

ในวาระการประชุมที่ 4.2 ข้อเสนอของสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี นางสาวสุจินต์ ธำรงค์เทพพิทักษ์ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี และ ดร.วารินทร์ ชลหาญ ที่ปรึกษาสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี ได้นำเสนอต่อที่ประชุมว่า ปทุมธานีเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่และเต็มไปด้วยชุมชน ที่พักอาศัย กระจายตัวอยู่ทั่ว การขับเคลื่อนเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของจังหวัดจึงต้องอาศัยนวัตกรรมและเทคโนโลยี ที่เป็นมิตรต่อชุมชมและสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรม จ.ปทุมธานี พบว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มีสิ่งประดิษฐ์ สิทธิบัตร และงานวิจัย ที่สามารถต่อยอดในทางพาณิชย์อยู่เป็นจำนวนมาก มทร.ธัญบุรี มีนักศึกษารวม 24,780 ราย แต่ละปีสำเร็จการศึกษากว่า 5,000 ราย บัณฑิตจำนวนมากมีศักยภาพ สามารถก้าวขึ้นมาเป็นนักธุรกิจนวัตกรรม สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล หากเรามี Eco-Innovative System ที่เหมาะสม สภาอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานีจึงได้ร่วมกับ มทร.ธัญบุรี จัดทำ “โครงการศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการรายใหม่ Innovative Startup Park” โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้

1. ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดบนฐานเทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นมิตรต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม
2. สร้าง Eco-Innovative System ที่เอื้อต่อการเริ่มธุรกิจใหม่
3. ผลิตนักธุรกิจนวัตกรรม -> บัณฑิตจบใหม่, SMEs, ชุมชน
4. สิ่งประดิษฐ์ สิทธิบัตร และงานวิจัย ที่สามารถต่อยอดทางพาณิชย์ นำมาสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจปทุมธานี
5. เชื่อมโยงนักธุกิจใหม่ นักธุรกิจปัจจุบัน แหล่งเงินทุน เกิดเป็นความร่วมมืออย่างยั่งยืน

โดยมี มทร.ธัญบุรี เป็นหน่วยดำเนินการ โดยเสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณ เพื่อดำเนินการโครงการฯ ดังกล่าว จำนวน 28.5 ล้านบาท จากจังหวัดปทุมธานี หลังการนำเสนอของทางสภาอุตสาหกรรมฯ ประธานในที่ประชุมได้ให้ความเห็นว่า “โครงการฯ ดังกล่าวเป็นโครงการที่ดี สามารถเสริมสร้างเศรษฐกิจของจังหวัดปทุมธานีได้ตามวิสัยทัศน์ของจังหวัดที่ว่า เมืองน่าอยู่ คู่อุตสาหกรรม เป็นการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจ ทางจังหวัดปทุมธานีพร้อมที่จะให้การส่งเสริมโครงการฯ และจะช่วยจัดหางบประมาณให้ได้เร็วที่สุด ไม่รอการจัดทำงบประมาณประจำปี 2568 เพราะธุรกิจอุตสาหกรรมเปลี่ยนแปลงเร็ว หากชักช้าจะทำให้ปทุมธานีเสียโอกาส” รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัด นายอดิเทพ กมลเวชช์ กล่าว

“ที่ประชุมจึงมีมติเห็นชอบตามที่ทางสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานีเสนอ มอบหมายให้สำนักงานจังหวัดปทุมธานีหาแห่งงบประมาณมาดำเนินโครงการ”

การขอรับงบประมาณจากภาครัฐ ยังไม่สิ้นสุดกระบวนการ ยังต้องเสนอเข้าที่ประชุมของคณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ เพื่อบรรจุเข้าในแผนงบประมาณจังหวัดปทุมธานี ปี 2568 อย่างเป็นทางการ เมื่อผ่านการพิจารณาระดับจังหวัดอาจจะมีข้อสักถามในหลายประเด็นในระดับกระทรวง สำนักงบประมาณ และในชั้นการพิจารณาพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 อาจจะต้องตบเท้าร่วมกันเข้าไปชี้แจงต่อ กรรมาธิการ สภาผู้แทนราษฎร อีกชั้นหนึ่ง โครงการดังกล่าวเริ่มจากความต้องการของภาคเอกชนในพื้นที่โดยการนำเสนอของสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี มีมหาวิทยาลัยของรัฐในพื้นที่ ที่มีความกระตือรือร้นที่อยากจะดำเนินโครงการ และมีจังหวัดปทุมธานีเป็นเจ้าภาพหลักในการบูรณาการการทำงานร่วมภาครัฐและเอกชน ผลักดันงบประมาณ ถือได้ว่าเริ่มต้นโครงการได้ดีทีเดียว

วันอังคารที่ 28 กันยายน 2566 เวลา 10.00 น ณ ห้องประชุมบัวหลวง ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดปทุมธานี สภาอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี นำโดย นายสมควร จันทร์แดง ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี  ดร.วารินทร์ ชลหาญ ที่ปรึกษาสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี กลุ่มงานนวัตกรรมและการจัดการ รศ.ดร.เกียรติศักดิ์ แสงประดิษฐ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ธัญบุรี(มทร.ธัญบุรี) ได้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ จังหวัดปทุมธานี ครั้งที่ 6/2566 โดยมี รักษาราชการแทน ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี นายอดิเทพ กมลเวชช์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี เป็นประธานการประชุม และนายพงศธร กาญจนะจิตรา รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ร่วมเป็นประธานการประชุม

นายนิมิตร ฆังคะจิตร พาณิชย์จังหวัดปทุมธานี ได้แถลงต่อที่ประชุมว่า ทางสำนักงานพาณิชย์จังหวัดปทุมธานี เห็นว่าโครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่ดี สอดคล้องกับภาระกิจของกระทรวงพาณิชย์ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ดังนั้นสำนักงานพาณิชย์พร้อมที่จะเป็นหน่วยรับงบประมาณ และร่วมกับทาง จังหวัดปทุมธานี มทร.ธัญบุรี กกร.จังหวัดปทุมธานี และส่วนราชการอื่น เพื่อขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว นอกจากนี้ยังตั้งงบประมาณต่อเนื่อง ปี 2569 – 2570 เพื่อร่วมขับเคลื่อนโครงการต่อไป

ว่าที่ ร.ต.ล้ำ ปลูกเพชร์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์และข้อมูลเพื่อการพัฒนาจังหวัด แจ้งต่อที่ประชุมว่า ได้บรรจุโครการ ศูนย์บ่มเพาะนักธุรกิจนวัตกรรมรุ่นใหม่ (RMUTT Innovative StartUp Park) งบประมาณ 28.5 ล้านบาท ลงในแผนปฏิบัติราชการประจำปี จังหวัดปทุมธานี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เป็นที่เรียบร้อย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *