สภาอุตสาหกรรมปทุมธานี ประสาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มทร.ธัญบุรี และ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 14 ปทุมธานี สร้าง Smart Business และ Smart Manufacturing

Update

วันที่ 26 กันยายน 2566 เวลา 14.00 น. ณ ห้องประชุมราชพฤกษ์ ชั้น 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สภาอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี ครั้งที่ 9/2566 มีการเชิญ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณบดีคณะเทคโนโลยีการเกษตร มทร.ธัญบุรี และ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 14 ปทุมธานี เพื่อร่วมกันสร้าง Smart Business และ Smart Manufacturing ให้เกิดการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมตามวิสัยทัศน์จังหวัด “ปทุมธานี เมืองน่าอยู่ คู่อุตสาหกรรม”

การประชุมเริ่มขึ้นในเวลา 14.00 น. โดยนายสมควร จันทร์แดง ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานีได้กล่าวเปิดประชุม ต่อมา ผศ.ดร.เกียรติศักดิ์ แสงประดิษฐ์ ผู้อำนวยสถาบันวิจัยและพัฒนาได้กล่าวถึงความคืบหน้า โครงการศูนย์บ่มเพาะนักธุรกิจนวัตกรรมรุ่นใหม่ (RMUTT Innovative StartUp Park) ซึ่งเป็นโครงการที่ทางมหาวิทยาลัยจะบูรณาการการทำงานร่วมกับ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี หอการค้าจังหวัดปทุมธานี สมาคมธนาคารจังหวัดปทุมธานี สำนักงานพาณิชย์จังหวัดปทุมธานี และจังหวัดปทุมธานี เพื่อนำสิ่งประดิษฐ์ สิทธิบัตร และงานวิจัย ที่สามารถต่อยอดในทางพาณิชย์ ของสถาบันการศึกษา โดยการสร้างนักธุรกิจนวัตกรรมรุ่นใหม่ ขึ้นมาใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้ สร้างเศรษฐกิจของจังหวัดปทุมธานีให้เติบโตบนฐานนวัตกรรมและเทคโนโลยี ประธานสภาอุตสากรรมจังหวัดปทุมธานีกล่าวว่า ได้ผลักดันโครงการดังกล่าวเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากจังหวัดปทุมธานี ปี 2568 โดยได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าไปหารือในที่ประชุม กรอ.จังหวัดปทุมธานี ที่มีรักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัด นายอดิเทพ กมลเวชช์ เป็นประธานหลายครั้ง และประธาน กรอ.จังหวัดปทุมธานี ก็เห็นว่าโครงการดังกล่าวนั้นมีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของจังหวัดปทุมธานี ซึ่งที่ประชุมก็ได้มีมติให้ทางสำนักงานจังหวัดปทุมธานีช่วยจัดหางบประมาณ โครงการนี้จะทำให้ ผู้เข้าร่วมโครงการกลายเป็น Smart Business ภายใน Eco-Innovative System

ต่อมา รศ.ดร.สรพงษ์ ภวสุปรีย์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้รายงานต่อที่ประชุมว่า ตามที่ทางสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี มีความประสงค์จะให้เกิดการ Re Skill/Up Skill/New Skill แก่แรงงานภาคอุตสาหกรรมด้าน เทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่ ระบบอัตโนมัติ และหุ่นยนต์อุตสาหกรรม โดยใช้หลักสูตรการฝึกอบรมของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณการฝึกอบรมจากสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 14 ปทุมธานี นั้น ทางท่านอธิการบดี และทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะร่วมมือในการพัฒนาฝีมือแรงงานของภาคอุตสาหกรรม โดยได้นำส่งบันทึกความร่วมมือ( MOU) ให้กองกฎหมายพิจารณา จากการสอบถามความคืบหน้าทราบว่า กองกฎหมายตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว มีแก้ไขเพียงเล็กน้อยคาดว่าในเดือนตุลาคม 2566 น่าจะสามารถลงนามได้ นายสมควร จันทร์แดง ประธานสภาอุตสากรรมจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า ปทุมธานีเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ แต่การฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่ ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ในพื้นที่มีน้อยมาก แรงงานจำนวนมากเข้าไม่ถึงทักษะเหล่านี้ การพัฒนาฝีมือแรงงานด้านนี้จะทำให้ภาคอุตสาหกรรมของจังหวัดเป็น Smart Manufacturing นางกิติมา ศิริประธาน ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 14 ปทุมธานี กล่าวว่าทางสถาบันฯ มีแผนที่จะฝึกอบรมแรงงานด้านระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์อุตสาหกรรมอยู่แล้ว และยินดีที่จะสนับสนุนการจัดฝึกอบรบที่ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมภายใต้ความร่วมมือกับทาง มทร.ธัญบุรี

ต่อมา ผศ.ดร.ลลิตา ศิริวัฒนานนท์ คณบดีคณะเทคโนโลยีการเกษตร ได้นำเสนอแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพและอุตสาหกรรมเกษตรอาหารจังหวัดปทุมธานี บนพื้นฐานของการพัฒนางานวิจัยแต่ยอดนวัตกรรม โดยกล่าวว่าแผนพัฒนาจังหวัดปทุมธานีมีการกำหนดเรื่องการยกระดับการผลิต การเกษตรอุตสาหกรรม และบริการให้มีมูลค่าสูง ได้มาตรฐานสู่ตลาดโลก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคธัญบุรี มีศูนย์ปฎิบัติการ/ศูนย์ความเป็นเลิศที่เกี่ยวข้อง ถึง 6 ศูนย์ ที่จะสนับสนุนให้บรรลุตามเป้าหมายของแผนพัฒนาจังหวัดปทุมธานี

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *