วันที่ 2 เมษายน 2567 เวลา 11.00 น. ณ สำนักงานพาณิยช์จังหวัดปทุมธานี นายนิมิตร ฆังคะจิตร พาณิชย์จังหวัดปทุมธานี เป็นประธานการประชุม ร่วม 3 ฝ่าย สำนักงานพาณิชย์จังหวัดปทุมาธานี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี เพื่อขับเคลื่อนโครงการ ศูนย์บ่มเพาะนักธุรกิจนวัตกรรมรุ่นใหม่ (RMUTT Innovative StartUp Park) โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมดังนี้ นายสมควร จันทร์แดง ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี นายสวัสดิวงศ์ พิชัยสวัสดิ์ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี รศ.ดร.เกียรติศักดิ์ แสงประดิษฐ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มทร.ธัญบุรี ดร.วารินทร์ ชลหาญ ที่ปรึกษาสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี นายเรวัต ซ่อมสุข ผู้อำนวยการฝ่ายอาคารสถานที่ มทร.ธัญบุรี ดร.วิฑูร เจียมจิตตรง(ออนไลน์) รองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี นางสาวสุจินต์ ธำรงค์เทพพิทักษ์(ออนไลน์) รองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานีนางสาวคณธวัลย์ ศุภรัตนาภิรักษ์ หัวหน้าสำนักงานสถาบันวิจัยและพัฒนา มทร.ธัญบุรี และคณาจารย์ เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง
นายนิมิตร ฆังคะจิตร พาณิชย์จังหวัดปทุมธานี ประธานในการประชุม กล่าวเปิดประชุมเวลา 11.00 น. แจ้งต่อที่ประชุมว่า สืบเนื่องจากที่จังหวัดปทุมธานีได้บรรจุโครงการศูนย์บ่มเพาะนักธุรกิจนวัตกรรมรุ่นใหม่ (RMUTT Innovative StartUP Park) ลงในแผนปฏิบัติราชการประจำปีจังหวัดปทุมธานี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 วงเงินงบประมาณ 28.5 ล้านบาท โครงการศูนย์บ่มเพาะนักธุรกิจนวัตกรรมฯ ตนเห็นว่าเป็นโครงการที่ดี ตรงตามภาระกิจของทางกระทรวงพาณิชย์ ก่อนนั้นได้เห็นทางสภาอุตสาหกรรมปทุมธานีนำเสนอต่อที่ประชุม กรอ. มาบ้าง ต่อมาได้รับการประสานจากประธานสภาอุตสากรรมจังหวัดปทุมธานีให้เป็นหน่วยงานดำเนินโครงการ เมื่อพิจารณารายละเอียดในเบื้องต้นเห็นว่าเป็นโครงการที่ดีสอดคล้องกับภาระกิจของกระทรวง จึงรับเป็นหน่วยดำเนินโครงการร่วมกับทาง มทร.ธัญบุรี แต่ทั้งนี้การจัดทำงบประมาณปี 2569 จะต้องเริ่มทำแล้ว เพื่อให้โครงการดังกล่าวมีความต่อเนื่องหลังก่อสร้างอาคารศูนย์บ่มเพาะฯแล้วเสร็จจากงบประมาณปี 2568 จึงต้องบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนงบประมาณปี 2569 เพื่อสนับสนุนกิจกรรมต่อเนื่อง
นายสมควร จันทร์แดง ประธานสภาอุตสาหกรรมปทุมธานี ได้กล่าวถึงเหตุผลที่ขอให้ทุกฝ่ายมาพูดคุยกันในวันนี้ก็เพื่อที่จะหารือว่าจะต้องดำเนินการเช่นไรบ้าง ก่อนที่ปีงบประมาณปี 2568 จะเริ่มต้นในเดือน ตุลาคม 2567 โดยเสนอให้ทาง มทร.ธัญบุรี จัดทำรูปแบบ 3D ของอาคารสถานที่ และ แผนกิจกรรมที่จะทำในปีงบประมาณ 2567 – 2569 ก่อนให้พร้อม เมื่อเบิกจ่ายงบประมาณได้จะสามารถเริ่มดำเนินการก่อสร้าง และกิจกรรมต่างๆ ไปพร้อมๆ กัน
ดร.วารินทร์ ชลหาญ กล่าวว่าโครงการดังกล่าวเริ่มที่งาน อุตสาหกรรมแฟร์จัดขึ้นที่นิคมอุตสาหกรรมนวนคร โดย รศ.ดร.เกียรติศักดิ์ แสงประดิษฐ์ ได้หารือต่อประธานสภาอุตสากรรมจังหวัดปทุมธานี และต่อมาตนในฐานะที่ปรึกษาสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี ได้นำเสนอเรื่องดังกล่าวต่อที่ประชุมคณะกรรมการสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี และมีการขับเคลื่อนเข้าสู่ที่ประชุม กรอ. และ กบจ. จังหวัดปทุมธานีในหลายวาระ ซึ่งในขณะนั้นมี นายอดิเทพ กลมเวชช์ อยู่ในตำแหน่งรักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีได้ให้การสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง มีการจัดทำข้อเสนอโครงการ และจัดทำเอกสารเป็นจำนวนมาก เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางของ สภาพัฒนาเศรษฐกิจฯ และ ข้อกำหนดตาม พรฎ.การบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ จนต่อมาสำนักงานจังหวัดได้แจ้งต่อในที่ประชุม กรอ. ว่า ได้บรรจุโครงการดังกล่าว ลงในแผนปฏิบัติราชการประจำปีจังหวัดปทุมธานี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบประมาณ 28.5 ล้านบาท
นอกจากนี้แล้วในเอกสารขอรับงบประมาณที่เสนอไปยัง สำนักงานจังหวัดปทุมธานี สภาพัฒนาเศรษฐกิจฯ และกระทรวงมหาดไทย ได้นำข้อห่วงใยของทางสภาพัฒน์ต่อวิธีการบริหารจัดการและการดูแลรักษา เมื่อโครงการแล้วเสร็จเพื่อให้เกิดความยั่งยื่นมาร่วมจัดทำ จึงได้นำข้อห่วงใยของสภาพัฒน์ฯ กำหนดในงาน ข้อ 11 ของแบบฟอร์มข้อมูลพื้นฐานโครงการ ซึ่งหน่วยดำเนินการ หน่วยรับงบประมาณ รวมถึงจังหวัดปทุมธานี ควรจะต้องดำเนินการตามนั้น เพราะเปรียบเสมือนเหตุผลหลักที่สภาพัฒน์มองว่าโครงการนี้จะสำเร็จต้องมีการดำเนินการอย่างไร
รศ.ดร.เกียรติศักดิ์ แสงประดิษฐ์ ได้กล่าวถึงการดำเนินโครงการที่ผ่านมาแล้วในอดีต และที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต สถานที่ในการก่อสร้าง การตั้งงบประมาณดูแลทรัพย์สินที่จะรับโอนจาก จังหวัดปทุมธานี สำนักงานพาณิชย์จังหวัดปทุมธานี
นายเรวัต ซ่อมสุข ผู้อำนวยการฝ่ายอาคารสถานที่ กล่าวว่า มทร.ธัญบุรี มีความพร้อมในการดูแลอาคารศูนย์บ่มเพาะ และทรัพย์สินที่จะรับโอน การก่อสร้างสามารถประสานงานกับผู้เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นทางจังหวัดปทุมธานี สำนักงานพาณิชย์จังหวัด หรือสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดปทุมธานี จะขอร่วมประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
ดร.วารินทร์ ชลหาญ ได้เสนอว่าการขับเคลื่อนให้เกิด Eco Innovative Systems ที่เอื้อต่อการเริ่มต้นธุรกิจนวัตกรรม ของนักธุรกิจรุ่นใหม่ มีความจำเป็นที่จะต้องทำงานแบบบูรณาการ หน่วยงานภาครัฐ ภาคการศึกษาวิจัย และภาคเอกชน เข้าด้วยกัน อีกทั้ง เพื่อให้การใช้งบประมาณ 28.5 ล้าน ของปีงบประมาณ 2568 (ตุลาคม 2567) ที่จะถึงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการจัดทำงบประมาณของปี 2569 ก็กำลังจะเริ่มต้นขึ้น มีความต่อเนื่อง และเกิดการบูรณาการการทำงานเป็นไปตามวัตถุประสงค์โครงการ จึงเสนอให้สภาอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี สำนักงานพาณิชย์จังหวัดปทุมธานี และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เสนอจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีหรือผู้แทนเป็นประธาน รวมถึงหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นคณะกรรมการ โดยเร็วที่สุด
ที่ประชุมเห็นควรดำเนินการหลังจากนี้
1. แบบอาคาร รูป 3D ทางสถาบันวิจัยและพัฒนาฯ จะจัดทำให้มีความคืบหน้าภายในวันที่ 24 เมษายน 2567
2. กิจกรรมการบ่มเพาะนักธุรกิจของปี 2567 – 2569 โดยทางสถาบันวิจัยและพัฒนาฯ จะจัดทำเพื่อให้เห็นความชัดเจนของโครงการในทางปฏิบัติ เพื่อเป็นแนวทางให้ทุกหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ทราบและช่วยบูรณาการงบประมาณ และทรัพยากรสนับสนุน
3. เห็นควรให้ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี และพาณิชย์จังหวัดปทุมธานี พิจารณารายชื่อคณะกรรมการขับเคลื่อนศูนย์บ่มเพาะนักธุรกิจนวัตกรรมรุ่นใหม่ (RMUTT Innovative StartUP Park) ตามข้อ 11 ของแบบฟอร์มข้อมูลพื้นฐานโครงการ
4. สภาอุตสาหกกรรมจังหวัดปทุมธานี นำเสนอ(ร่าง)คณะกรรมการ และอำนาจหน้าที่ เข้าที่ประชุม กรอ. ครั้งต่อไปในเดือน พฤษภาคม 2567 เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี พิจารณาสั่งตามเห็นควรต่อไป